วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

 รูปแบบ DRU เพื่อส่งเสริม Meta cognition สำหรับนักศึกษา สาขาวิชาชีพครู พัฒนาขึ้นโดยมีรายละเอียด ดังนี้
หลักการรูปแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริม Meta cognition มีหลักการ แนวคิดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.  หลักปรัชญาการสอน ใช้หลักปรัชญาการสอนตามแนวคิด ทฤษฎีสรรค์นิยม
2.  การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ( learner centered learning) การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน และการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน (cooperative learning)
3.   การประเมินการเรียนรู้ตามสภาพจริง (authentic assessment) และกำหนดคุณภาพตามแนวคิด SOLO Taxonomy ร่วมกับแนวคิดการออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นสากล (Universal Design for Learning and Assessment)
วัตถุประสงค์ของ DRU Model
การพัฒนารูปแบบ DRU เพื่อส่งเสริม Meta cognition มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครู ในเรื่องดังต่อไปนี้
1.   เพื่อให้ความรู้ในเรื่อง การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน
2.   เพื่อฝึกปฏิบัติการเขียนแผนจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริม Meta Cognition
3.  เพื่อให้สามารถนำแผนจัดการเรียนรู้และจัดการชั้นเรียน เพื่อส่งเสริม Meta Cognition
แนวคิดทฤษฎี
ทฤษฎีสรรคนิยม (Constructivism) หลักการสำคัญของการเรียนรู้คือ การอ้างถึงหลักฐานในสิ่งที่ที่พวกเราสร้างขึ้น ที่ปรากฏต่อสายตาตัวเราเองและอยู่บนฐานประสบการณ์ของแต่ละบุคคล” Constructivism เป็นปรัชญาการศึกษาที่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้นี้จะฝังติดอยู่กับคนสร้าง ดังนั้นความรู้ของแต่ละคนเป็นความรู้เฉพาะตัวเป็นสิ่งที่ตนสร้างขึ้นเองเท่านั้น โดยนักเรียนจะเป็นผู้กำหนดหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่จะเรียนและวิธีการเรียนของตนเองและเป็นผู้ตัดสินว่าตนเองจะได้เรียนรู้อะไร เรียนรู้อย่างไรและพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองอย่างไรสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในบริบทอื่นได้อย่างเหมาะสม เรียนรู้จากการปฏิบัติ มีอิสระในการคิดและทำสิ่งต่างๆเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนด้วยตนเองและเรียนรู้บรรยากาศการเรียนที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ภายใต้การอำนวยความสะดวกของครู
สุเทพ อ่วมเจริญ (2556: 2  21) กล่าวไว้ว่า สร้างสรรค์ความรู้ด้วยปัญญา (Constructivism) อยู่บนฐานของการอ้างอิงหลักฐานในสิ่งที่พวกเราสร้างขึ้นแสดงให้ปรากฏแก่สายตาของเราด้วยตัวของเราเอง และอยู่บนฐานประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และโครงสร้างองค์ความรู้ภายในแต่ละบุคคลอีกด้วย การเรียนรู้ในลักษณะนี้อยู่บนฐานของการแปลความหมายและการให้ความหมายประสบการณ์ต่าง ๆ ของผู้เรียนในแต่ละบุคคลว่าเป็นอย่างไร การที่ผู้เรียนลงมือกระทำการอย่างว่องไวในกระบวนการสร้างสรรค์ความหมายจากประสบการณ์ต่าง ๆ ของผู้เรียน  องค์ความรู้จะถูกสร้างขึ้นโดยผู้เรียนและโดยเหตุผลที่ทุกคนต่างมีชุดของประสบการณ์ต่าง ๆ ของการเรียนรู้จึงมีลักษณะเฉพาะตน และมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคนการเรียนรู้จะเกิดปรากฏขึ้นในห่วงแห่งความคิดเมื่อได้มีการกระทำภายในบุคคลนั้น ๆ  ทฤษฎีแนวนี้ถูกใช้เพื่อเน้นการเตรียมการผู้เรียนในการตัดสินใจแบบจำลองทางจิตใจของเขา  ในการจัดรวบรวมประสบการณ์ใหม่ต่าง ๆ และการแก้ปัญหาสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่กำกวมน่าสงสัย
ลักษณะการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีสรรคนิยม (Constructivism) สามารถประมวลจากนักการศึกษาหลายท่านได้ในรูปแบบต่างๆดังนี้  (Osborne. And Wittrock.  1983 : 489-508 ; Wilson. And  Cole.  1991:59-61; Curry.  2540 ;  Suvery.and  Duffy. 1955: 1-38 : อ้างถึงใน  ภิญญาพัชน์  ปลากัดทอง  2551: 82)
  การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหมายและตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียน  โดยทั่วไป
นักเรียนจะสร้างความหมายจากสิ่งที่ตัวเองรับรู้ตามประสบการณ์เดิมของตน  ความหมายที่นักเรียนสร้างขึ้นอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความหมายที่ผู้เชี่ยวชาญสาขานั้นยอมรับก็ได้  ตามแนวคิดสรรคนิยมถือว่าความหมายที่นักเรียนสร้างขึ้น  ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด  แต่เรียกว่าไม่สอดคล้องกับความหมายที่ผู้เชี่ยวชาญยอมรับในขณะนั้นเรียกว่า  มโนทัศน์คลาดเคลื่อน  การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้จึงเน้นให้นักเรียน  และบุคคลที่แวดล้อมนักเรียน  ตรวจสอบความหมายที่นักเรียนสร้างขึ้นในขณะที่มีการเรียนการสอนหากพบว่านักเรียนมีมโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน  ครูในฐานะที่เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกในการเรียนของนักเรียนจะต้องจัดกิจกรรมให้นักเรียนมีโอกาสได้พิจารณาตรวจสอบมโนทัศน์ของตนเองอีกครั้ง  โดยครูอาจต้องจัดกิจกรรมในทำนองเดียวกันนี้หลายครั้งจึงจะสามารถแก้ไขมโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนของนักเรียนได้  สรุปได้ว่านักเรียนต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบความรู้ที่ตนเองสร้างขึ้นว่าสอดคล้องหรือคลาดเคลื่อนจากความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆยอมรับหรือไม่
  การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความรู้เดิมของนักเรียน   การเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม  วัฒนธรรม 
และสภาพแวดล้อมเท่านั้น  แต่การเรียนรู้ยังขึ้นอยู่กับความรู้เดิม   แรงจูงใจ    ความคิดและอารมณ์ของนักเรียนอีกด้วย  เพราะสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเลือกรับสิ่งเร้าและวิธีการที่นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น  และยังมีผู้กล่าวอีกว่า ความรู้ที่ติดมากับตัวนักเรียนจะมีอิทธิพลต่อการที่นักเรียนจะเลือกเรียนอะไรและใช้วิธีเรียนรู้อย่างไร  การจัดการเรียนการสอนแนวคิดนี้จึงเน้นความสำคัญเกี่ยวกับความรู้เดิมของนักเรียน
การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่นักเรียนแก้ปัญหาหรือสืบสอบเพิ่มเติม เพื่อลดความขัดแย้งทางความคิดของตนเอง นักการศึกษาหลายท่านอธิบายถึงการเรียนรู้ของมุมมองนี้ว่า จัดการเรียนการสอนตามแนวนี้ว่า ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาตามสภาพจริงหรือควรส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงและทำการสืบสอบด้วยตนเองเครื่องมือสำคัญที่บุคคลนำมาใช้คือทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ทักษะการคิดระดับสูง วิธีการทางวิทยาศาสตร์
               การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม  นักการศึกษาหลายท่าน  อธิบายการเรียนรู้ตามแนวคิดนี้ว่า 
เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมซึ่งอธิบายผลจากการร่วมมือกันทางสังคมไว้ว่า  ความรู้สามารถถ่ายโอนจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคลหนึ่งได้  แต่การแลกเปลี่ยนและสะท้อนความคิดให้เห็นแก่กันและกัน  การเหตุผลกับความคิดเห็นของตนเองหรือโต้แย้งความคิดเห็นของบุคคลอื่น  ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสพิจารณากระบวนการคิดของตนเองเปรียบเทียบกับกระบวนการคิดของผู้อื่น  ทำให้มีการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการสร้างความหมายของสิ่งต่างๆ  ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถปรับเปลี่ยนความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนได้
              การเรียนรู้เป็นกระบวนการกำกับตนเองของนักเรียน  นักการศึกษาเชื่อว่าการกำกับตนเองเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ ตามแนวคิดทฤษฎีสรรคนิยมนั้นนักเรียนต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียนรู้ของตนเองด้วยการทำให้การเรียนรู้นั้นเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายคือเข้าใจเรื่องที่เรียนได้อย่างลึกซึ้ง  จนสามารถสร้างความหมายของสิ่งนั้นๆได้ด้วยตนเอง  รวมทั้งสามารถนำความรู้และกระบวนการเรียนรู้ไปใช้ในบริบทอื่นได้  เป็นความรับผิดชอบของนักเรียนที่ต้องทำความเข้าใจมโนทัศน์เฉพาะของเรื่องที่เรียนว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในลักษณะที่เป็นองค์รวม
           การเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีสรรคนิยม ได้นำรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ต่างๆ มาใช้อย่างมากมาย เช่น การเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry-based Learning) หรือการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน(Collaborative Learning) โดยมีเป้าประสงค์หลักก็คือ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงกระบวนการหรือวิธีการในการเรียนรู้ (How to Learn)  
สรุปลักษณะการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีสรรคนิยม  คือ  นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้  หรือความหมายของสิ่งที่รับรู้ขึ้นมาด้วยตนเอง  โดยนักเรียนแต่ละคนอาจสร้างความหมายของสิ่งที่รับรู้แตกต่างกันตามความรู้เดิมของแต่ละคน   การสร้างความรู้ของนักเรียนเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับกระบวนการอื่นๆอย่างน้อย 3 กระบวนการ คือ กระบวนการกำกับตนเอง  กระบวนการทางสังคม  และกระบวนการสืบสอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น